TALKS RundUmschau AI กับอนาคตของคนทำงานแปล:
th de

AI กับอนาคตของคนทำงานแปล:

เสียงสะท้อนจากงานวันนักแปลและล่ามไทย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยจัดงานวันนักแปลและล่ามครั้งที่ 17 ขึ้น ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร งานนี้ถือเป็นวาระแห่งการรำลึกถึงอดีตและมองไปยังอนาคตในหลายมิติด้วยกัน วาระแห่งการรำลึกถึงความสำคัญและคุณูปการของบุคลากรในวิชาชีพแปลและล่ามผ่านการมอบรางวัลสุรินทราชา ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติคุณของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ประการที่สอง เนื่องจากรางวัลดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาสุรินทราชาหรือ “แม่วัน” นักแปลคนแรกของไทย ผู้แปลนวนิยายเรื่อง ความพยาบาท (Vendetta) ของมารี คอเรลลี (Marie Corelli) ในปี พ.ศ. 24441 จึงอาจกล่าวได้ว่า การมอบรางวัลนี้เป็นการรำลึกถึงจุดเริ่มต้นและเส้นทางอันยาวนานเกือบ 30 ปี ของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยผู้ก่อตั้งรางวัล แม้ว่าการรำลึกจะเกิดจากการคิดถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่ชั่วขณะที่เรารำลึกอดีตนั้นเกิดขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งการรำลึกมิใช่เพียงการมองย้อนกลับไปสำรวจเรื่องเก่า ๆ หากแต่ยังเป็นการคิดคำนึงและฝันถึงอนาคตด้วยเช่นกัน ดังที่
ปกรณ์ กฤษประจันต์ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยได้กล่าวไว้ในสารจากนายกสมาคมฯ ความว่า “นักแปลและล่ามคือนักเดินทางข้ามเวลา ข้ามพรมแดน และเดินทางทะลุเปลือกที่ห่อหุ้มใจคน เครื่องมือของเราคือถ้อยคำและความหมายที่ช่วยขุดและตีแผ่เจตนาที่ฝังรากลึกอยู่ในต้นฉบับ แต่แล้วในวันนี้ อนาคตกำลังเป็นฝ่ายเดินเข้าหาเรา เครื่องมือที่เคยรับใช้การทำงานของนักแปลและล่ามเริ่มทำงานได้ดีกว่าเราและทำงานได้โดยลำพัง หรือนักแปลและล่ามจะเหลือเพียงบทเรียนที่ชอกช้ำและจินตนาการบนความไม่แน่นอนตามความฝันที่ว่า เรานี่ละคือผู้สานสร้างคุณค่าได้เหนือกว่าการทำงานของเครื่องมือ”2

สารจากนายกสมาคมฯ และหัวข้อหลักของงานวันนักแปลและล่ามประจำปี พ.ศ. 2567 สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในหมู่นักแปลและล่ามทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในขณะนี้ กล่าวคือ ปัญญาดิษฐ์ หรือ AI กับงานแปลและล่าม อันที่จริงเรื่อง AI เป็นที่รู้จักกันในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายมากขึ้นในไทยตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2565 ที่มีการเปิดตัว ChatGPT เห็นได้จากการจัดงานเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้ทุนศึกษาวิจัยจากภาครัฐ ไม่ว่าจะในวงการการศึกษา วงการศิลปะ วงการธุรกิจ หรือวงการการแปลและล่าม คำสำคัญที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ AI จึงไม่น่าแปลกที่สมาคมฯ เลือกหยิบประเด็นดังกล่าวมาใช้เป็นหัวข้อปาฐกถาพิเศษและการเสวนา3

ในปาฐกถาเรื่อง “ผลกระทบของ AI กับงานแปลและล่าม” รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์คลังข้อมูลและภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ได้แสดงให้เห็นพัฒนาการของ AI ในการแปลภาษาไทยเป็นอังกฤษและจากภาษาอังกฤษเป็นไทย ส่วนใหญ่แล้ว AI ทำได้ดีพอสมควร แต่ก็ยังมีส่วนที่แปลได้ไม่สละสลวยนัก นอกจากนี้วิทยากรยังได้ทดลองให้ AI แปลกวีนิพนธ์ร้อยกรองของ William Blake เป็นภาษาไทยโดยใช้ฉันทลักษณ์ประเภทต่าง ๆ อนึ่ง ผู้เขียนบทความต้องอธิบาย ณ ที่นี้ก่อนว่า ฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ไทยมีความซับซ้อนมาก เช่น มีการบังคับพยางค์ บังคับสัมผัสสระและมาตราตัวสะกด บังคับครุและลหุ บังคับเอกโท เป็นต้น นอกจากนี้โครงสร้างภาษาไทยยังมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับภาษาตะวันตก การที่ AI สามารถแปลบทกลอนภาษาอังกฤษออกมาเป็นบทกลอนภาษาไทยด้วยฉันทลักษณ์ต่าง ๆ ได้ในเวลาอันสั้น จึงทำให้หลายคนทั้งตื่นตาตื่นใจและประหวั่นพรั่นพรึงไปพร้อมกัน กระนั้นบทกลอนที่ AI แปลเป็นภาษาไทยยังมีข้อบกพร่อง ยิ่งฉันทลักษณ์ซันซ้อนมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งพบข้อผิดพลาดมากขึ้นเท่านั้น ในด้านความงดงามของภาษาพบว่า ภาษาของ AI แข็งทื่อไม่กลมกลืนรื่นหู ราวกับต้องการตอกย้ำว่านี่คือภาษาของหุ่นยนต์ที่ไร้ซึ่งอารมณ์และความรู้สึก แต่หากเราสั่งให้ AI ปรับแก้สำนวนไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน ที่น่าสนใจคือ แม้แต่วิทยากรเองยังกล่าวในตอนท้ายว่า AI จะช่วยเราแปลงานที่ไม่ต้องการคุณภาพ แต่ต้องการความรวดเร็วได้เป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะหมายถึงต้นฉบับทั่วไปที่ไม่ซับซ้อนและไม่ใช่วรรณกรรม

ต่อมาในช่วงเสวนาหัวข้อ “ภูมิทัศน์ใหม่ของ AI และภาษา” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1) นักวิชาการด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติซึ่งเป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ 2) นักแปลอาชีพสายธุรกิจและตลาดออนไลน์ แอดมินเพจสำหรับนักแปล และ 3) ล่ามอาชีพสายธุรกิจและงานประชุมนานาชาติ กรรมการทำงานเฉพาะกิจพัฒนามาตรฐานวิชาชีพล่าม ได้หยิบยกประเด็นเรื่องความสามารถของ AI ในการแปลภาษาไทยขึ้นมาพูดคุย โดยเริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้แค่ในประเทศเดียว มีคลังข้อมูลทางภาษาให้ AI เรียนไม่มากนัก ผู้เสวนาท่านหนึ่งจึงเห็นว่า AI ยังเก่งไม่พอที่จะทำให้นักแปลและล่ามอาชีพชาวไทยต้องกังวล ข้อสังเกตนี้อาจจะมองข้ามความเร็วที่ AI พัฒนาตนเองได้

ที่น่าสนใจคือ ผู้ร่วมเสวนามองว่าผู้ใช้ AI ที่ไม่มีความชำนาญในด้านนี้จำนวนหนึ่งมักเข้าใจผิดว่า AI ฉลาดล้ำ ไม่ว่าจะสั่งให้ทำอะไรก็จะสามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้ว AI ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่มาก หรือที่หลายคนเรียกว่ามีอาการ “หลอน” กล่าวคือ มันสร้างข้อมูลเท็จ ให้คำตอบที่เพ้อเจ้อ เมื่อแปลตัวบทก็แปลผิด แปลขาด หรือแปลเกิน ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องมีทั้งความรู้และความตระหนักรู้ หมายความว่า มีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาในสิ่งที่ตัวเองแปล เพื่อสื่อสารกับ AI ให้ได้ผลลัพธ์ตรงตามที่ต้องการ และมีความตระหนักรู้ถึงความสามารถและข้อจำกัดของมัน รวมถึงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นด้วย ถ้าผู้ใช้งานคนนั้นไม่สามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดในการแปลของ AI ได้ การแปลด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยนี้ย่อมไม่เกิดประโยชน์ AI ไม่สามารถทำให้คนแปลไม่เป็นกลายเป็นนักแปลได้ ดังนั้น มันจึงเป็นเครื่องมือสำหรับนักแปลมืออาชีพ

ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามไม่ต่อต้านการใช้ AI และเห็นควรส่งเสริมให้นำมาใช้ในการทำงานแปลและล่าม โดยอธิบายว่านักแปลอาชีพคุ้นเคยกับโปรแกรมแปลภาษาหรือ Machine Translation มาระยะหนึ่งแล้ว AI จึงไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ อีกทั้งนักแปลก็ได้ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้มาโดยตลอด ยิ่งในปัจจุบันที่การตลาดแบบเรียลไทม์มีบทบาทมากขึ้น ทุกอย่างต้องใช้ความเร็ว นักแปลจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยทำงาน เช่นเดียวกับล่ามอาชีพที่ได้ยกตัวอย่างการใช้ AI โดยให้มันรวบรวมคำศัพท์ที่น่าจะพบได้ในการประชุมหัวข้อเฉพาะทาง​ ซึ่ง AI ช่วยลดเวลาในการจัดทำคลังคำศัพท์ของล่ามอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าล่ามคนนี้ได้ใช้คำศัพท์ที่ AI ช่วยประมวลมากถึงร้อยละ 50 แต่สุดท้ายก็ยังมีคำศัพท์เฉพาะทางที่เขาต้องหันไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญข้าง ๆ ตัวอยู่ดี

ไม่ว่าจะด้วยเวลาที่จำกัดหรือด้วยการตั้งหัวข้อที่กำหนดทิศทางการเสวนาก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นสำคัญบางประเด็นที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงบนเวทีงานวันนักแปลและล่ามประจำปีนี้ กล่าวคือ ประเด็นปัญหาเรื่องสถานภาพของวิชาชีพนักแปลและล่ามที่เปลี่ยนไปและจะยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน หากมีการใช้ AI อย่างแพร่หลาย ควบคู่ไปกับการที่มันพัฒนาความสามารถไปไกลมากขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักแปลและล่ามอาชีพไทยมาหลายปีแล้ว หลายคนเห็นว่างานของนักแปลอาชีพอาจถูกลดทอนลงเหลือเพียงการปรับแก้สำนวนลีลาการใช้ภาษาของเครื่องแปลหรือ Post-editing เท่านั้น หลายคนพยายามปรับตัว พัฒนาทักษะ เพื่อให้สามารถทำงานในลักษณะใหม่นี้ได้ เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่าคงไม่มีทางเลือกมากนักหากยังต้องการประกอบอาชีพในวงการนี้ต่อไป และทางออกที่เป็นไปได้คือ การยอมรับ ปรับตัว และรู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ การใช้ AI กับการแปลวรรณกรรมและงานสร้างสรรค์ประเภทอื่น ๆ การเสวนาเรื่องภูมิทัศน์ของ AI และการแปลครั้งนี้มุ่งความสนใจไปที่การแปลและการล่ามสายธุรกิจหรืองานที่ไม่ใช่วรรณกรรมเป็นหลัก เราจึงยังไม่ได้ยินเสียงสะท้อนของนักแปลวรรณกรรมต่อการใช้ AI ในโอกาสนี้ อย่างไรก็ดี เท่าที่ผู้เขียนทราบ การแปลตัวบทสร้างสรรค์ในประเทศไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ยังนิยมใช้นักแปล (บางกรณีถึงกับระบุไว้ในสัญญาห้ามมิให้ใช้ AI) เพราะการแปลงานประเภทนี้มิใช่เพียงการถ่ายความจากภาษาต้นทางไปยังภาษาปลายทางเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องบริบททางสังคมวัฒนธรรม ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และการเมือง อีกประการที่สำคัญคือ ตัวบทวรรณกรรมสร้างขึ้นจากภาษาวรรณศิลป์ ผ่านการร้อยเรียงอย่างประณีต มีลีลาเฉพาะตัวของผู้ประพันธ์ การแปลต้นฉบับวรรณกรรมจึงยังคงต้องอาศัยความรู้และการค้นคว้าอย่างลึกซึ้งของนักแปล น่าเสียดายที่งานวันนักแปลและล่ามประจำปีนี้มิได้เปิดโอกาสให้อภิปรายแลกเปลี่ยนประเด็นเรื่อง AI กับการแปลงานวรรณกรรม และเรื่องนโยบายของสำนักพิมพ์ที่ยังคงเลือกใช้คนในการแปลผลงานประเภทนี้

26.07.2024
Fußnoten
1
2
3
PDF

นันทนา อนันต์โกศล จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่กรุงเทพ และปริญญาเอกสาขาวิชาวรรณคดีเยอรมันสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยซีเกิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นันทนาเป็นอาจารย์สอนภาษาและวรรณคดีเยอรมันที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแปลงานวรรณกรรมที่ใช้ภาษาเยอรมันควบคู่กันไป เช่น นวนิยายของยูดิท แฮร์มันน์ และนิทานกริมม์